ดนตรีจุฬาฯสู่เวทีโลก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บุกเบิกกิจกรรมทางดนตรีคลาสิคตะวันตกมากว่า
20 ปี
และก่อตั้งเป็นวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ปัจจุบันได้จัดให้มีวงดนตรีอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบอีกหลายวง เช่น วงวิโอลา
วงเครื่องสาย วงเครื่องเป่า วงเครื่องจังหวะ และคณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีกิจกรรมการแสดงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นประจำทั้งในมหาวิทยาลัยและสัญจรไปแสดงในต่างจังหวัดด้วย
ในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้
มีความน่าภาคภูมิใจสำหรับชาวจุฬาฯและประเทศไทยที่ดนตรีคลาสิคของเราได้มีโอกาสไปแสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติ
ถึง 2 วงด้วยกัน วงแรกคือ วงคาริเน็ท
(CU Clarinet Ensemble ) ได้เข้าร่วมในเทศกาลดนตรี
Clarinet Fest 2013 เทศกาลดนตรีนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี
ค.ศ.1973 โดย สมาคมคลานิเน็ตนานาชาติ(International
Clarinet Assocation)
ประกอบด้วยการประชุมวิชาการ การอบรมสัมนาและปฏิบัติการ รวมทั้งการแสดงของวง
Clarinet จากทั่วโลก ที่ผ่านการคัดเลือก โดยในครั้งนี้ วง CU
Clarinet Ensemble
และวงจากมหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นเพียงสองวงจากเอเซีย
ที่ได้เข้าไปร่วมแสดงในเทศกาลดนตรีครั้งนี้
ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองอัสซิซี
ประเทศอิตาลี การผ่านการคัดเลือกและได้รับเชิญไปแสดงในครั้งนี้
นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่วง CU Clarinet Ensemble ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
เป็นการแสดงถึงมาตรฐานทางดนตรีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประเทศไทย
ทั้งยังเป็นการเปิดประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่นักดนตรีอีกด้วย
หลังกลับจากเทศกาลดนตรีดังกล่าว วง CU Clarinet Ensemble
ยังได้เข้าร่วมประกวด Thailand World Music Championships 2013 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย โดยร่วมกับ World Assocation of Marching
Show Bands ซึ่งมีผู้ร่วมเข้าประกวดทั้งในประเทศและนานาชาติ ผลการประกวดวง CU Clarinet
Ensemble ได้รับรางวัลเหรียญทอง และคะแนนรวม 93.333 เป็นอันดับหนึ่ง ในประเภท Ensemble :woodwins ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชัดเจนถึงศักยภาพของวงดนตรีคลาสิคตะวันตกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีกวงหนึ่งคือ คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn
University Concert Choir) ได้ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าร่วมประกวด The 12th
Venezia in Musica, 2014
ซึ่งเป็นการแข่งขันขับร้องประสานเสียงเพลงคลาสิคระดับนานาชาติและได้รับรางวัลเหรียญทองมาด้วยความภาคภูมิใจ โดย อาจารย์ ดร.ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์
ผู้อำนวยเพลงของคณะนักร้องประสานเสียงจะเป็นผู้เล่าให้ฟังต่อไป
ก่อตั้งและเติบโต
คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Chulalongkorn
University Concert Choir) หรือที่เราเรียกตัวเองว่า
CUCC ก่อตั้งในปี 2549
ถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 8 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผลงานด้านการขับร้อง
ประสานเสียงบทเพลงแนวคลาสสิกเป็นหลัก แสดงคอนเสิร์ตประจำปีละสองครั้ง
และร่วมแสดงกับวง ซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในคอนเสิร์ตที่เป็นกิจกรรมหลักที่จัดโดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง และในโอกาสต่าง ๆ เช่นระลึก 100 ปี การ สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
และการระลึกถึงการเสด็จสู่สวรรคาลัย ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
องค์อุปถัมภ์ของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีผลงานร่วมกับวงออร์เคสตราระดับอาชีพ เช่น
วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ และวงสยามฟิลฮาร์โมนิคออร์เคสตรา
ร่วมแสดงในงานคอนเสิร์ตและ
เทศกาลดนตรีขับร้องประสานเสียงที่จัดโดยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอก
และนิสิตที่เป็น สมาชิกก็ได้มีโอกาสให้บริการสังคมโดยเป็นวิทยากรร่วม
หรือเป็นผู้ช่วยวิทยากรในการอบรมด้านขับ ร้องประสานเสียงอยู่เสมอ
วงนี้เริ่มต้นจากนักร้องที่เป็นนิสิต
ภาควิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ ในสมัยนั้น ต่อมาได้มี ผู้สนใจในผลงานของวงฯ
มากขึ้น และมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากต่างคณะ และบางส่วนก็มาจาก ต่างสถาบัน
เป็นผู้ที่มีความสนใจที่จะเรียนรู้ศิลปะการขับร้องประสานเสียงในแนวเพลงของทางวงฯ
ที่อำนวยเพลงโดย อาจารย์ ดร.ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีศึกษา
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้อำนวยเพลงคนไทยเพียงคนเดียวที่จบการศึกษาด้านขับร้องประสานเสียงโดยตรงในระดับปริญญาเอกจาก
University
of Southern California ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา
คณะนักร้องประสานเสียงของเราเป็นที่จับตามองของวงการดนตรีขับร้องประสานเสียงมาโดยตลอด
สมาชิกของวงนอกจากจะเป็นนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลักแล้ว ก็มีผู้ที่มาชม
คอนเสิร์ตหรือเป็นเพื่อนๆ ของนิสิตที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วที่มีความประทับใจในการแสดงของวงฯ
และมีความเชื่อมั่นว่าวงฯสามารถให้ความรู้และประสบการณ์ที่ดีในการขับร้องประสานเสียงได้
โดยปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวน 40 คน
เป็นนิสิตปัจจุบันจุฬาลงกร์มหาวิทยาลัยจำนวน 26 คน บัณฑิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย 3 คน นักเรียน นิสิต นักศึกษาจากภายนอก 11 คน
วัตถุประสงค์หลักในการฝึกซ้อมและแสดงของทางวงขับร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหา
วิทยาลัย คือเพื่อเป็นการให้การศึกษาแก่สมาชิกของวง
ในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำใน การเรียนการสอนด้านดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย
แนวเพลงของวงฯ จึงเป็นแนวเพลงศิลปะขั้นสูง คือเพลงในแนวคลาสสิกที่ประพันธ์ขึ้นโดยผู้ประพันธ์เพลงตั้งแต่ศตวรรษที่
14-21 เพื่อให้นิสิตได้
เรียนรู้สไตล์ของดนตรีที่แตกต่างกันระหว่างบทเพลงในแต่ละยุคสมัย ได้ขับร้องทั้งแบบ
A
cappella คือไม่มีดนตรีประกอบ และขับร้องร่วมกับเครื่องดนตรีและการประสมวงในลักษณะต่าง
ๆ ที่หลาก หลาย และได้นำผลงานออกแสดงต่อสาธารณะอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางวงฯ
ก็ได้เป็นที่
ยอมรับในแวดวงดนตรีคลาสสิกในประเทศว่าเป็นวงขับร้องประสานเสียงชั้นนำที่สมาชิกมีความรู้ความ
เข้าใจและทักษะชั้นสูงในการขับร้องบทเพลงที่มีความท้าทายมาก
บทเพลงที่เราได้ออกแสดงไปแล้วนั้นก็เช่น Mass for Double Chorus A Cappella ของ Frank Martin, Dona nobis pacem ของ Ralph Vaughan Williams, Messiah ของ George Frederic Handel, Mass in C Minor ของ Wolfgang Amadeus Mozart และ Magnificat in D Major ขอว Johann Sebastian Bach เป็นต้น
มาตรฐานในการสอนการฝึกซ้อม
และการแสดงของวงขับร้อง ประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้ในมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐ
อเมริกา ทั้งในด้านประเภทของเพลง สไตล์การสอน การร้อง เทคนิค ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ใช้เวลาเพื่อการสร้างสมาชิกในวงให้มีความรู้ความเข้าใจ
ความสามารถ และรสนิยม โดยผ่านการทำงานหนักของทุก ๆ ผ่านที่เกี่ยวข้อง
ทั้งฝ่ายการจัดการ นักร้อง และผู้อำนวยเพลง
การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละสองครั้งเป็นเวลาหลายปี เป็นสิ่งที่
สร้างวินัยและความสามารถในการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น
ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกของวงก็แสดงให้เห็น
มาโดยตลอดว่าพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อจะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการแสดงศิลปะการดนตรีระดับสูงที่ได้มาตรฐาน
โดยมีทัศนคติในการทำงานที่เป็น ทางบวกเสมอ
เสริมประสบการณ์ สู่เวทีโลก
หลังจากที่คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUCC ได้สั่งสมประสบการณ์ ความรู้ เทคนิค
ในการขับร้องประสานเสียงมาจนเรามีความคิดว่า
เราควรจะต้องเติบโตขึ้นและเราก็มีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่เวทีระดับสากล
เราจึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมการประกวดขับร้องประสานเสียง
The 12th Venezia in Musica, 2014 ในประเทศอิตาลี ในระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2557
ที่ผ่านมา
Venezia
in Musica ที่เราเข้าประกวด เป็นการแข่งขันขับร้องประสานเสียงที่มีขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 12 โดย Meeting Music ร่วมกับเมืองคาโอร์เล ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศที่อยู่ห่างประมาณ
45 นาทีโดยทางรถยนต์จากนครเวนิส มีการแบ่งประเภทของการแข่งขันตามอายุ
ระดับความยากง่าย เครื่องดนตรีที่ใช้ประกวดในการแข่งขัน และจำนวนของนักร้องในวง
ประเภทการแข่งขันที่คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Chulalongkorn
University Concert Choir) เข้าประกวดคือ
C1 (Mixed Chamber Choir) ซึ่งในกลุ่มเชมเบอร์นี้จะเป็นที่ทราบกันดีในแวดวงขับร้องประสานเสียงว่า
เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูงสุด มีความท้าทายมากที่สุด และหลักเกณฑ์ในการตัดสินสูงกว่ากลุ่มอื่น
ๆ เนื่องจากใช้จำนวนคนน้อยและบทเพลงส่วนใหญ่มีความยาก
ในการประกวดนี้มีวงขับร้องประสานเสียงที่ได้รับคัดเลือกเข้าประกวด
20 วง จากประเทศออสเตรีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา เดนมาร์ค ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี
นอร์เวย์ รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศไทย โดยมีคณะขับร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นวงเดียวจากประเทศในทวีปเอเชีย และในประเภท C1 ที่เราเข้าประกวด มีจำนวนทั้งสิ้น 5 วง ได้แก่ วง Vass Lajos Kammerkorus จากประเทศ Hungary,
วง Kammerkoret Bocca
จากประเทศ Norway, วง Polyphonichesky Choir จากประเทศ Russia,
วง New Tone จากประเทศ
Russia และ คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากที่ได้ส่งประวัติของวงร่วมกับไฟล์เสียงจำนวน
3 เพลงจากคอนเสิร์ตของวงฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ทางผู้จัดก็ได้ตอบรับวงCUCC และโปรแกรมเพลงที่ใช้ในการแข่งขันก็ได้รับการอนุมัติจาก
Artistic Committee และได้ทำการติดต่อในเรื่องของตารางเวลาและการจัดการมาอย่างต่อเนื่อง
วงขับร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการแข่งขันในวันที่ 1 พฤษภาคม ณ Sala Teatro เมืองคาโอร์เล จากนั้นจะแสดงคอนเสิร์ต
ณ วิหาร Chiesa di San Moiséนครเวนิส ในวันที่ 2 พฤษภาคม และแสดงคอนเสิร์ตอีกครั้งในเมืองคาร์โอเล ในวันที่ 3 พฤษภาคม ตามลำดับ ซึ่งนอกจากจะได้เข้าแข่งวัดระดับความสามารถแล้วยังจะได้มีโอกาสแสดง
ผลงานของเยาวชนไทยให้แก่ชาวอิตาลีอีกด้วย
เพลงที่เราใช้ในการประกวดตามที่ได้รับอนุมัติจาก
Artistic Committee ได้แก่เพลง Panis Angelicus ประพันธ์โดย Domenico Bartolucci(1917-2013),
Verbum caro factum est ประพันธ์โดย Hans Leo Hassler (1564-1612),
Piena sorgeva la luna จาก Due composizioni corali ประพันธ์โดย Ildebrando Pizzetti(1880-1968),
และ
Deus in adjutorium meum intende ประพันธ์โดย Benjamin Britten
(1913-1976) นอกจากนั้นยังมีเพลงเตรียมเพิ่มเติมจาก 4 เพลงประกวด สำหรับใช้ในการแข่งรอบ Grand Prize คือ Quem
vidistis pastores dicite ประพันธ์โดย Francis Poulenc (1899-1963),
และ Recordare
จาก
Lamentaciones des Jeremias propheta ประพันธ์โดย Alberto Ginastera (1916-1983)ซึ่งเพลงเหล่านี้เราได้ใช้ในการร้องคอนเสิร์ต 2
ครั้งระหว่างการประกวดอีกด้วย
กรรมการตัดสินการประกวดล้วนแต่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาชาติ
ให้คะแนนโดยแบ่งเป็นการประเมินด้านเทคนิค ที่ตัดสินจากความแม่นยำของระดับเสียงและคุณภาพเสียงของวง
นอกจากนั้นก็เป็นการประเมินด้านศิลปะ ที่พิจารณาความถูกต้องของโน้ตและรายละเอียดตามที่บันทึกในโน้ต
ตลอดจนความประทับใจโดยรวมในด้านศิลปะโดยมอบรางวัลเป็นระดับ ทองแดง เงิน หรือทอง ตามลำดับคะแนน
นอกจากนั้นคณะกรรมการยังจะเสนอชื่อวงที่เข้าประกวดจำนวน 5 วงโดยคละกลุ่ม เพื่อเข้าประกวดในรอบ Grand Prize โดยมีรางวัลชนะเลิศเพียงรางวัลเดียว
ในการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
เราได้วางแผนการระดมทุน และดำเนินการประมาณ 6 เดือนก่อนการแข่งขัน ทั้งการของบประมาณสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัย
ขอสนับสนุนจากภาคเอกชน จัดคอนเสิร์ตจำหน่ายบัตร ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังมีปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะต้องจัดการชำระให้เรียบร้อยหลังจากที่กลับมาจากการแข่งขันแล้ว
ช่วงเวลาของการประกวด
29 เมษายน 2557
คณะนักร้อง CUCC ออกเดินทางจากประเทศไทยโดยสายการบิน Emirates เที่ยวบินที่EK 371
เวลา 02:35 น.เปลี่ยนเครื่องที่สนามบินนานาชาติดูไบ ถึงสนามบิน Marco Polo นครเวนิส ประเทศอิตาลี ด้วยสายการบิน Emirates เที่ยวบินที่ EK 135 เวลา 16:00 น. วันเดียวกัน รถบัสของผู้จัดประกวดรับทางคณะเดินทางไปเมือง Caorle ถึงโรงแรม Bellevue เมือง Caorle เวลาประมาณ
17:00 น. นักร้องพักห้องละ 3 คน พักผ่อนตามอัธยาศัย
30 เมษายน 2557
สำนักงานชั่วคราวของผู้จัดการประกวด ตั้งอยู่ที่ Centro civico (Civic
Center) ของเมือง Caorle สถานที่ประกวด เดินพาเหรดพิธีเปิด คอนเสิร์ต และกิจกรรมเกือบทั้งหมดอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
โดยห่างจากโรงแรมเป็นระยะทางเดินประมาณ 15 นาที เวลา 10:00 ทำการลงทะเบียนเข้าร่วมการประกวด จากนั้นทำการฝึกซ้อมระหว่าง
10:30-12:00 โดยผู้จัดการประกวดได้เตรียมห้องสำหรับซ้อมไว้ให้ รับประทานอาหารเที่ยงตามอัธยาศัย
15:00
ทางเมือง Caorle จัดงานต้อนรับที่ศาลาว่าการเมือง สำหรับผู้อำนวยเพลงและตัวแทนวงที่เข้าประกวด
อาจารย์ ดร.ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์ ผู้อำนวยเพลงและ นางสาวสุพิชชา กาลศิริศิลป์
ตัวแทนของคณะนักร้องเข้าร่วมงานดังกล่าว ได้มีโอกาสพบปะกับผู้ว่าการเมือง
ผู้จัดงาน กรรมการตัดสิน และผู้อำนวยเพลงของวงอื่น ๆ ที่เข้าประกวด
จากนั้นเคลื่อนย้ายไปร่วมขบวนพาเหรดเปิดงานที่คณะนักร้องต่าง ๆ
เข้าแถวรออยู่บริเวณจัตุรัสประจำเมือง เดินไปยัง Centro Civico บรรยากาศในขบวนพาเหรดสนุกสนานและเป็นมิตร จากนั้นทำการฝึกซ้อมเพิ่มเติมเล็กน้อยและเดินกลับโรงแรมเพื่อรับประทานอาหารเย็น
20:00
คอนเสิร์ตเปิดงาน ณ Duomo
San Stefano แสดง โดยวงขับร้องประสานเสียงและออร์เคสตราประจำเมือง
เริ่มต้นงานโดยคณะนักร้องที่เข้าร่วมประกวดทั้งหมดร้องเพลง Ave verum corpus ประพันธ์โดย Wolfgang Amadeus Mozart ร่วมกัน อำนวยเลงโดย Tim Sharp หนึ่งในกรรมการตัดสิน คอนเสิร์ตมีความยาวค่อนข้างมาก
ไม่มีพักครึ่งเวลา CUCC
ออกจากคอนเสิร์ตเวลาประมาณ 22:00 เพื่อกลับที่พัก
1 พฤษภาคม 2557
รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม เดินทางไปยัง Centro civico เพื่อฝึกซ้อมระหว่าง 11:00-12:30 รับประทานอาหารเที่ยง
จากนั้นซ้อมในห้องที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อให้ชินกับอคูสติกของห้อง แต่ละวงมีเวลาซ้อม
10 นาที มีเจ้าหน้าที่ของผู้จัดการประกวดเป็นผู้กำกับเวลา
อคูสติกของห้องประกวดแห้งมาก
เสียงไม่ก้อง ทำให้การร้องเป็นไปได้อย่างยากลำบากเนื่อง
จากนักร้องไม่ได้ยินเสียงของตนเองหรือของแนวเสียงอื่น ๆ นักร้องเกิดความเครียด
ช่วงบ่ายจึงให้ นักร้องรวมตัวกันกลางแจ้งเพื่อซ้อมในสภาพแวดล้อมที่การฟังลำบาก
เพื่อให้นักร้องคุ้นเคย ในระหว่างนั้นมีชาวเมืองเดินพลุกพล่าน
เนื่องจากเป็นวันหยุดวันแรงงาน จึงได้รับความสนใจจากผู้คน
ในบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก CUCC
จึงร้องเพลงที่ไม่ได้ใช้ในการประกวดให้แก่ผู้ที่รอฟังอยู่ในบริเวณ
นั้นซึ่งมีจำนวนประมาณ 200
คน
ได้รับเสียงปรบมือชื่นชมอย่างล้นหลาม และนักร้องก็รู้สึก ผ่อนคลายขึ้น
ในการประกวด
CUCC เป็นวงเข้าประกวดในลำดับที่ 4 สภาพห้องประกวดเวลาประกวดจริง ร้อนและการถ่ายเทอากาศไม่ดี
แต่นักร้องสามารถทำได้ดีกว่าช่วง Sound check อย่างมาก
หลังจากการประกวด นักร้องกลับโรงแรม เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย รับประทานอาหารเย็น
ตามอัธยาศัย ในช่วงกลางคืนผู้อำนวยเพลงได้รับโทรศัพท์จากทางผู้จัดการประกวดว่าวง CUCC ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารอบ Grand Prize ในวันที่ 3
พฤษภาคม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก
2 พฤษภาคม 2557
เดินทางไปนครเวนิส เพื่อแสดงคอนเสิร์ต ออกเดินทาง 11:30 น. ถึงเวนิสเวลา 14:00 น. ผู้จัดได้เตรียมมัคคุเทศก์ให้สำหรับทัศนศึกษา สภาพอากาศในวันนั้นไม่อำนวย
ฝนตกหนัก ได้เดินชมเมืองบริเวณจัตุรัสเซนต์มาร์ค ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นไปที่ Chiesa di San Moisé เวลา 15:00น.เพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งกายและเตรียมแสดงคอนเสิร์ต
ห้องแต่งตัวคับแคบ และจำนวนวงที่แสดงคอนเสิร์ตทั้งสิ้น 5 วง จึงไม่สะดวก และเนื่องจากฝนตก ทุกอย่างจึงเร่งรีบ
อย่างไรก็ตาม การแสดงของ CUCC
เป็นที่ประทับใจของผู้ชมที่พร้อมใจปรบมือพร้อมกันเป็นจังหวะ
ตามธรรมเนียม ชาวยุโรปเพื่อขอให้แสดงเพลง Encore สมาชิกของวง CUCC
ต่างประทับใจในบรรยากาศการขับร้องเพลงในวิหารเก่าแก่ที่มีอคูสติกก้อง
ไพเราะมาก อีกทั้งมีผู้ชมเต็มในวิหาร เป็นประสบการณ์ ที่ดีมากสำหรับทุกคน
ผู้จัดการวงและผู้อำนวยเพลงตัดสินใจเดินทางกลับ
Caorle ทันทีหลังจากแสดงเสร็จสิ้น
เนื่องจากนักร้องอยู่ในสภาพเปียกฝนอย่างหนัก และอากาศหนาว เกรงนักร้องจะป่วย และกลับถึงโรงแรมประมาณ 20:00 น.
3 พฤษภาคม 2557
ผู้อำนวยเพลงพบปะกับกรรมการทั้ง
5 ท่าน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
กรรมการแต่ละท่านต่างแสดงความชื่นชมในการแสดงของวง CUCC โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทราบว่า เป็นการแข่งขันครั้งแรก
และต่างก็ได้ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ จากนั้นผู้อำนวยเพลงเดินทางไป สมทบกับวงฯ
ที่รอแสดง Friendship
Concert อยู่ที่ Palazetto dello
Sport ซึ่งอยู่ห่างออกไป ใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาที มีการเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการแสดงเล็กน้อย
เพื่อให้บรรยากาศของคอนเสิร์ตไม่เครียดเกินไป CUCC ได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากผู้ชม และได้รับคำชื่นชมจากผู้อำนวยเพลง
นักร้องวงอื่น ๆ และผู้ชมทั่วไปอย่างมาก
จากนั้นรับประทานอาหารเที่ยงและฝึกซ้อมต่อเล็กน้อย
จนเวลา 16:00
ซึ่งเป็นเวลาแข่งขันรอบ Grand Prize และ พิธีประกาศผลรางวัล
CUCC เป็นวงแรกที่แข่งในรอบ Grand Prize นักร้องสามารถร้องได้อย่างยอดเยี่ยม อย่างไรก็ตามรอบ Grand Prize มีรางวัลเพียงรางวัลเดียว วงที่ได้รับรางวัลคือวง Vass Lajos
Kamarakorus จากประเทศฮังการี
ผลการแข่งขันอันน่าภูมิใจ
คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Chulalongkorn
University Concert Choir) ได้รับรางวัลเหรียญทอง
ด้วยคะแนนรวม 21.13
เป็นลำดับที่ 2 ของ Category
C1 และมีโอกาสเป็น Finalist เข้าร่วมประกวด Grand
Prize อีกด้วย
คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความภาคภูมิในผลการประกวดที่ได้รับ
เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ให้แก่พวกเราในการที่จะฝึกฝนต่อไปเพื่อทำชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ
ในเวลาเดียวกันก็เป็นการส่งผ่านความรู้และศิลปะดนตรีที่ได้รับการสนับสนุนไม่มากนัก
เมื่อเทียบกับความสำคัญของดนตรีที่มีต่อการสร้างคนที่มีคุณภาพให้แก่สังคม และเราพร้อมที่จะทำงานต่อไปเรื่อยๆตราบใดก็ตามที่ประชาคมจุฬาฯ
และสังคมยังเห็นความสำคัญในสิ่งที่เราทำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น